แบงก์ชาติ-ก.ล.ต.ถกปมภาษีคริปโท เตรียมประกาศ ห้ามใช้ชำระค่าสินค้า

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

คลังผนึก ก.ล.ต.-แบงก์ชาติ กุมขมับ เร่งจัดระเบียบคริปโทเคอร์เรนซี อุดช่องโหว่-เคลียร์ปัญหา-รื้อเกณฑ์กำกับสินทรัพย์ดิจิทัล เตรียมออกประกาศ “ห้ามใช้ชำระค่าสินค้า” สกัดปัญหาลามเป็นลูกโซ่ งัดข้อกฎหมายจำกัดขอบเขตผู้รับใบอนุญาตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สรรพากรเคลียร์ปมภาษีคริปโทแบ่ง 2 เฟส แก้ปัญหาระยะสั้นปีภาษี 2564 เปิดทางให้นักลงทุนยื่นแบบหักกลบกำไร-ขาดทุน ส่วนแนวทางจัดเก็บภาษีปีต่อไป ต้องรอผลศึกษาเพิ่มเติม

คลัง-ก.ล.ต.-ธปท.จัดระเบียบ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้ประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงเนื่องจากทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนสนใจเข้าสู่ตลาดในมิติต่าง ๆ ขณะที่เกณฑ์กำกับดูแล แนวปฏิบัติยังไม่ชัดเจนในหลายประเด็น นอกจากเรื่องการจัดภาษีที่มีการหารือกันอยู่

ยังมีอีกหลายประเด็นที่กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประชุมหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อความชัดเจนเรื่องขอบเขตการดำเนินธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาต รวมถึงการเดินหน้าปรับแก้กฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

สั่งห้ามใช้ชำระค่าสินค้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.เตรียมออกประกาศเรื่องไม่ส่งเสริมให้นำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ในการชำระสินค้าและบริการ พร้อมกันนี้จะมีการทำเฮียริ่งในการจำกัดขอบเขตให้บริการของผู้ได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange), นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) รวมทั้งผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) ก่อนที่จะมีการประกาศว่าไลเซนส์แต่ละประเภทจะทำอะไรได้บ้าง รวมทั้งการห้ามนำคริปโทเคอร์เรนซีไปใช้เพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการ

จากที่ผ่านมามีผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตหลายรายมีการร่วมมือกับภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรับชำระสินค้าและบริการ ถือว่าเป็นการทำเกินขอบเขตจากที่ได้รับอนุญาต ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล 2561 เนื่องจากเรื่องของการชำระสินค้าและบริการ จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน ในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

จำกัดขอบเขตผู้รับไลเซนส์
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องมีกำหนดไกด์ไลน์ให้ชัดเจนว่า ผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภทจะทำอะไรได้บ้าง และทำอะไรไม่ได้บ้าง เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นความผิดของภาคธุรกิจ หรือของใคร แต่เพราะเป็นเรื่องใหม่ของโลก ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตชัดเจน

“ในส่วนของหน่วยงานกำกับไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยี แต่หากจะมีการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ชำระสินค้าและบริการ ก็จะต้องมีข้อกำหนดออกมาว่าจะทำแบบไหน อย่างไร ต้องมีแผนปิดความเสี่ยง สถานการณ์ตอนนี้ก็เป็นการคลีนอัพกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายที่มีอยู่ และแนวทางกำกับอาจยังไม่ชัดเจน ก็จะต้องมีการจัดระเบียบ คลีนอัพสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดก่อนที่จะไปต่อ”

กรณีดังกล่าวสอดรับกับที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาย้ำเมื่อต้นปี 2565 ว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยได้สื่อสารในเรื่องของความผันผวนและมีความเสี่ยง และความไม่มีสถียรภาพ

หากมีการปล่อยให้ใช้อย่างแพร่หลายจะส่งผลทำให้ระบบการชำระเงินขาดเสถียรภาพ โดย ธปท.ต้องการให้เรื่องของการชำระเงิน อยู่ในรูปเงินบาท ส่วนเรื่องของการลงทุนคริปโท ธปท.ไม่ได้ขัดข้อง เนื่องจากมีผู้กำกับดูแลคอยดูแลอยู่แล้ว

เคลียร์ปมเก็บภาษี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ประชุมร่วมกับกรมสรรพากร ธปท. สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยหลังการประชุม สำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทุกฝ่าย และจากแบบสอบถามที่สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเป็นผู้รับผิดชอบจัดส่งให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนของสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยจะมีการกำหนดแนวทางคำนวณภาษีตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนภายในสิ้นเดือน ม.ค. 2565

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างหารือกับผู้เกี่ยวข้องเรื่องการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล และจะหาข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งกรณีมีข่าวว่าอาจจะเลื่อนการหาข้อสรุปเรื่องนี้ออกไปนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ยื่นภาษีคริปโทแล้วกว่าพันราย
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการหารือร่วมกัน ทางผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีข้อเสนอให้เลื่อนการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ออกไปประมาณ 2 ปี เพื่อจัดทำระบบ ซึ่งคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้เก็บภาษี

โดยตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่เป็นการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ออกมาควบคู่กับ พ.ร.ก.การประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจก็ทราบอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีประชาชนผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลปีละหลายร้อยราย บางปีก็เป็นหลักพันราย กรมสรรพากรได้เงินเข้ามา 20-30 ล้านบาท

ข้อเสนอเอกชน 3 แนวทาง
สำหรับข้อเสนอที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเสนอ 3 แนวทาง การคำนวณภาษีมาให้กรมสรรพากรพิจารณานั้น คงยากที่จะดำเนินการตามนั้น และผู้ประกอบแต่ละรายก็ยังมีความคิดเห็นต่างกันอยู่ โดยภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ กรมสรรพากรจะทำให้ชัดเจนในเรื่องวิธีคำนวณภาษีคริปโทเคอร์เรนซี และการหักภาษี ณ ที่จ่าย

รวมทั้งในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (VAT) และส่วนที่ยังมีข้อสงสัยในรายละเอียดชัดเจนมากกว่านั้นก็อาจจะเป็นการเข้าไปดูในสเต็ปต่อไป

เคาะภาษีปี’64 ขาดทุนหักกลบได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางเบื้องต้นกรมสรรพากรจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ระยะสั้น คือ การจัดเก็บภาษีในรอบปีบัญชี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องยื่นแบบรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายใน 30 มี.ค.นี้ ซึ่งในส่วนนี้มีแนวโน้มว่าจะให้ผู้เสียภาษีสามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ ถ้าสุดท้ายตลอดทั้งปี ผู้ลงทุนมีผลขาดทุนจากการซื้อขายก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีกำไรก็ต้องคำนวณรวมในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยกรมสรรพากรได้ขอให้ exchange เตรียมข้อมูลธุรกรรมซื้อขายให้กับลูกค้า เพื่อให้มีข้อมูลการเทรดมายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะหากสรุปชัดว่าให้สามารถนำกำไรและขาดทุนมาหักกลบกันได้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องมีข้อมูลการซื้อขายสินทรัพย์ให้กับลูกค้า โดยทางผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายก็พร้อมที่จะช่วยดูแลเรื่องดังกล่าว เพียงแต่จะต้องทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่อ

เล็งใช้ Final Tax เก็บภาษีปี’65
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า ในระยะสั้นสรรพากรจะมีการออกคู่มือ หรือไกด์ไลน์ แนวทางยื่นแบบภาษีของปี 2564 ส่วนแนวทางข้างหน้าคือ ตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป ยังไม่มีข้อสรุป จะมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ขึ้นมาพิจารณาแนวทางร่วมกัน เนื่องจากกรมสรรพากรยังต้องรอรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี แนวทางที่พิจารณาไว้เบื้องต้นคือ อาจต้องแก้กฎหมายประมวลรัษฎากร จากเดิมที่กำหนดให้หัก ณ ที่จ่าย 15% จากกำไร หรือ capital gain ไปเป็นการจัดเก็บในลักษณะ final tax (เงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้าย) คือ เงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกที่จะนำมารวม หรือไม่รวมคำนวณ ในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ เหมือนกรณีรายรับจากดอกเบี้ย หรือเงินปันผล

“แนวทางนี้คือต้องให้ exchange เป็นผู้หักภาษี แล้วนำส่งกรมสรรพากร โดยใครจะขอคืนภาษี ก็ให้ไปยื่นตอนปลายปี ส่วนใครไม่ขอคืน หรือต้องจ่ายเพิ่มก็ไม่ต้องยื่นแล้ว ซึ่งคนที่จะยื่นเพื่อขอคืนภาษี ก็คือคนที่ขาดทุนนั่นเอง โดยวิธีนี้เป็นการหักภาษีจากยอดขาย ซึ่งจะง่ายกว่าไปหักจากกำไร หรือ capital gain อย่างไรก็ดี ต้องแก้กฎหมายผ่านกระบวนการรัฐสภา อย่างเร็วที่สุดก็ต้องใช้เวลาเป็นปี”

หวั่นนักลงทุนไทยหนีเทรด ตปท.
นายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเก็บข้อมูลการซื้อขายตามกฎหมายอยู่แล้ว

แต่อาจยังไม่พร้อมให้ลูกค้าจำนวนมากดึงข้อมูลไปใช้พร้อมกัน จึงต้องมีการสร้างระบบใหม่ขึ้นเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่จะเกิดขึ้น ส่วนแนวทางในการจัดเก็บภาษี ทางสมาคมได้เสนอความคิดเห็นไปยังภาครัฐแล้ว

“หากการจัดเก็บไม่สอดรับกับนานาชาติและการลงทุน อาจทำให้นักลงทุนไทยย้ายเงินไปลงทุนกับ exchange ต่างประเทศ เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบใน 2 มิติ คือ รัฐบาลอาจจัดเก็บภาษีได้ลดลง ที่ผ่านมามีการเก็บภาษีจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ถ้านักเทรดย้ายไปเทรดแพลตฟอร์มต่างประเทศรายได้ของแพลตฟอร์มในประเทศก็จะลดลง และกระทบการจัดเก็บภาษีของรัฐด้วยอีกมิติส่งผลต่ออุตสาหกรรมคริปโทในไทย”

และการเสนอให้ศึกษาระเบียบ และรูปแบบการจัดเก็บภาษีคริปโทที่ดี ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินหน้าร่วมกันได้ ทั้งในมุมของผู้ประกอบการที่จะกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเติบโต ขณะที่รัฐก็จัดเก็บภาษีได้ สาเหตุที่เสนอให้เลื่อนการจัดเก็บภาษีออกไปก่อน 1-2 ปี ก็เพื่อให้การออกกฎหมายปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

Exchage ไม่กระทบธุรกิจ
ส่วนกรณีที่ภาครัฐกำลังจะออกประกาศใหม่เพื่อกำกับบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล เช่น การห้ามไม่ให้เป็นตัวกลางในการรับชำระค่าสินค้านั้น นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า จะไม่ส่งผลต่อตลาดคริปโทโดยรวม เนื่องจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้ออกแบบมา หรือมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป้าหมายดังกล่าวอยู่แล้ว

สอดคล้องกับนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า วอลุ่มที่จะเกิดจากการรับชำระค่าสินค้าด้วยคริปโทถือว่าน้อย ดังนั้น หากมีประกาศออกมาจริงก็จะไม่ส่งผลต่อผู้เล่นในอุตสาหกรรม แต่อาจส่งผลในเชิงการทำตลาดมากกว่า เพราะสิ่งที่ภาคธุรกิจประกาศรับคริปโทถือเป็นการสร้างกิมมิกทางการตลาดมากกว่า การออกมาตัดไฟตั้งแต่ต้นลมของภาครัฐถือเป็นเรื่องที่ดี

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/news-850584